ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

บทวิจารณ์วรรณกรรม เรื่อง Nineteen Eighty-Four (1984) by George Orwell



บทวิจารณ์วรรณกรรม เรื่อง Nineteen Eighty-Four (1984) by George Orwell*





รัฐพงศ์   หมะอุ

คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์




            วรรณกรรมการเมืองคลาสสิกของโลก เรื่อง 1984 ซึ่งประพันธ์โดย จอร์จ ออร์เวลล์ (George Orwell) ที่สะท้อนภาพสังคมอันถูกจำกัดไว้ซึ่งสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานอย่างสิ้นเชิง ผ่านสำนวนการเสียดสีและแฝงไปด้วยความขัดแย้ง ซึ่งถูกถ่ายทอดออกมาในสำนวนการเขียนของ สรวงอัปสร กสิกรานันท์[1] 

เป็นที่น่าสนใจว่า 1984 พยายามตั้งคำถามโดยการมองมุมกลับกับสังคมที่ดูราวกับว่า “ปกติ” ทั้งที่เป็น “ความปกติที่ไม่ปกติ” สังคมแบบย้อนแย้งระหว่างกรอบแนวคิดและวิธีปฏิบัติที่เรียกว่า คิดสองชั้น (Double think) จนกลายเป็นความสำพันธ์ที่ซับซ้อนในเชิงอำนาจ


1984 กับภาพสะท้อนโลก อาเซียน และไทย

            หนังสือ 1984 ถูกตีพิมพ์ในช่วงสงครามเย็น (cold war) และแสดงให้เห็นถึงความน่ากลัวของสังคมแบบเผด็จการเบ็ดเสร็จ (Totalitarianism) ซึ่งชี้ให้เห็นว่าเทคโนโลยีมีส่วนสำคัญในการทำให้เกิดสังคมนิยมเบ็ดเสร็จหรือในทางกลับกันนั้น อำนาจเบ็ดเสร็จจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีเป็นสำคัญ หากทว่าในปัจจุบันเทคโนโลยีกลับเอื้ออำนวยต่อระบอบเสรีหรือประชาธิปไตยยิ่งกว่า จะเห็นได้จากคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ตถูกใช้เป็นเครื่องมือต่อสู้และขับเคลื่อนต่อสู้กับความไม่ชอบธรรมต่ออำนาจรัฐหรือเอกชน 


อย่างไรก็ตาม 1984 ยังมีหลายแง่มุมที่น่าสนใจ เช่นว่า จอร์จ ออร์เวลล์ให้ความสำคัญกับการควบคุมข่าวสาร ประวัติศาสตร์ มิติทางภาษาศาสตร์การคิดคำศัพท์ทางการใหม่หรือที่เรียกว่า Newspeak รวมถึงกิจกรรมเกลียดชังหรือแม้แต่การประณามนักโทษต่อสาธารณะ เป็นหนึ่งในพิธีกรรมสร้างความเกลียดชังต่อศัตรูและผู้เป็นอาชญากรความคิด 


ซึ่งอำนาจในการบงการข่าวสารและประวัติศาสตร์ สามารถเปลี่ยนเนื้อหาสาระหรือแม้แต่รายละเอียดได้โดยวันต่อวัน ต่อชั่วโมง หรือนาที มิตรอาจกลายเป็นศัตรู กลับกันศัตรูอาจกลายเป็นมิตร เพราะเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างความชอบธรรมของเผด็จการเบ็ดเสร็จ ในเมื่อปัจจุบันเปลี่ยน อดีตก็ต้องถูกเปลี่ยน นั่นคือ อดีตจะถูกปรับให้ทันต่อเหตุการณ์และจะเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องไม่สิ้นสุด เพื่อให้สมเหตุสมผล นั่นคือคำขวัญของพรรคที่ว่า “ผู้ควบคุมอดีต ย่อมควบคุมอนาคต ผู้ควบคุมปัจจุบัน ย่อมควบคุมอดีต”[2]

            สิ่งสำคัญสิ่งหนึ่งในการควบคุมความคิดคนใน 1984 คือ การสร้างคำที่เรียกว่า Newspeak การกำหนดคำศัพท์ที่จำเป็นโดยเอื้อต่ออำนาจของผู้นำ ลดคำที่นำไปสู่การขบถ เป็นแนวคิดวิธีหนึ่งที่ จอร์จ ออร์เวลล์ สามารถทำนายได้อย่างแม่นยำ คงเป็นตลกร้ายถ้าจะกล่าวว่า หากไม่มีคำศัพท์เกี่ยวกับการขบถก็จะไม่มีการขบถ แต่นั่นกลายเป็นปรัชญาภาษาซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทฤษฎีทางสังคมในปัจจุบัน และการคิดสองชั้น (Double think) สามารถบังคับความหมายจากดีเป็นร้าย จากร้ายกลับกลายเป็นดีได้ ดังวลีที่ว่า “สงครามคือสันติภาพ อิสรภาพคือความเป็นทาส อวิชชาคือพลังอำนาจ” 

            หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หนังสือพิมพ์ การสื่อสาร และการศึกษาขยายตัวอย่างมากในเชิงปริมาณซึ่งทำให้การเมืองประเทศต่าง ๆ พัฒนาเป็นการเมืองแบบมวลชนหรือแบบสาธรณชน จึงมีผลให้รัฐและสังคมไม่สามารถแบ่งแยกออกจากกันได้อย่างชัดเจน กล่าวคือทำให้อำนาจรัฐกระจายตัวไม่กระจุกอยู่ในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และสามารถถูกตรวจสอบได้อย่างเปิดเผย แต่ทั้งนี้สาธารณชนสามารถตกอยู่ในมิจฉาทิฐิร่วมได้และเป็นผู้ค้ำจุนความอัปลักษณ์ในสังคมอย่างฝังลึก กลายเป็นประชาชนเองที่คอยค้ำจุนรัฐ บงการประชาชนด้วยกันเอง และก่อความเลวร้ายได้อย่างน่าเหลือเชื่อ อาทิเช่น การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวโดยลัทธินาซี การปฏิวัติวัฒนธรรมในจีน ระบอบเขมรแดง และเหตุการณ์      6 ตุลาคม 2519 ในไทย เป็นต้น 


ซึ่งลำพังอำนาจรัฐมิอาจก่อความหายนะจนกลายเป็นโศกนาฏกรรมวงกว้างขนาดนี้ได้ ประชาชนเป็นปัจจัยสำคัญอย่างมากในทุกกรณีที่กล่าวมา  เช่นเดียวกับกรณีพิพาทเรื่องเขาพระวิหาร ความขัดแย้งซึ่งกระทำผ่านสื่อมวลชนเป็นหลัก โดยสื่อจำนวนมากมีความเห็นคลั่งชาติจนกลายเป็นว่าประชาชนเองเป็นผู้ก่อวาทกรรมชาตินิยม ทั้งกรณีทางประวัติศาสตร์อีกหลายกรณี จนก่อให้เกิดการดูถูกชาติเพื่อนบ้าน ทั้งพม่า ลาว กัมพูชา และชาวมลายู ปัจจุบันก็ยังมีคนไทยจำนวนมากที่คลั่งชาติและเชื่อว่าบรรพชนคนไทยมีถิ่นกำเนิดอันยาวนานมาจากแถบเทือกเขาอัลไต[3] ซึ่งมีความสอดคล้องกับในการทำสงคราม ไพร่พลทั้งหลายจะถูกปลุกระดมด้วยคำว่า 

“รบเพื่อชาติเพื่อแผ่นดินและตายเพื่อชาติเพื่อแผ่นดิน” 

เป็นหน้าที่อันมีเกียรติและศักดิ์สิทธิ์ของคนในชาติ โดยพวกเขาก็ยอมรับในหน้าที่นี้อย่างภูมิใจและเหนียวแน่น โดยมิได้เฉลียวใจว่า ชาติคืออะไร? และพวกเขามีกรรมสิทธิ์ในผืนดินนั้นคนละกี่ไร่?[4] ซึ่งเกิดขึ้นในทำนองเดียวกับลัทธิผู้คลั่งศาสนา และความขัดแย้งทางชาติพันธุ์


ประเทศไทยกับสังคม 1984 “ห้ามถาม ห้ามสงสัย

            สิ่งที่น่าสนใจในตอนท้ายของ 1984 คงปฏิเสธไม่ได้ว่าการทารุณกรรม ทำร้ายร่างกายเพื่อให้ตัวละครอย่างวินสตันรับสารภาพในความผิดที่ถูกยัดเยียดว่าผิด เป็นสิ่งที่สะเทือนอารมณ์ของผู้อ่านมิน้อย ภาพของการ “รักษาเยียวยา” นั่นอาจเป็นคำพูดแบบภาษา Newspeak ซึ่งความหมายมิต่างจากการล้างสมองโดยใช้ความกลัว ความเจ็บปวดทางร่างกายและจิตใจเป็นตัวกระตุ้น ในสังคมไทยช่วงหลังการรัฐประหารวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ.2557 มักได้ยินคำว่า “การปรับทัศนคติ” อยู่บ่อยครั้ง 


ประเด็นที่กล่าวถึงคือ กระบวนการปรับความคิด ความเชื่อ ความรู้สึกของบุคคลให้ยอมรับความถูกต้องของเผด็จการอย่างยินยอม แสดงให้เห็นว่าประชาชนในรัฐเผด็จการต้องมีความคิด ทัศนคติต่อการใช้อำนาจของผู้นำถูกต้องเสมอ โดยเหตุเพื่อความสงบสุข แก้ไขปัญหาความรุนแรง ปัญหาความขัดแย้ง และคืนความสุขให้กับคนในชาติ ผู้ที่มีแนวโน้มเห็นต่างหรือต่อต้านคัดค้าน ต้องถูกนำไปปรับทัศนคติใหม่ ผู้ที่เชื่อในเสรีภาพ ความเสมอภาคเท่าเทียม และอำนาจของประชาชน เป็นความคิดที่ “เพ้อฝัน” เป็นอุดมการณ์ที่กินไม่ได้[5] 


ถ้าหากจะเปรียบเทียบสังคมไทยกับ 1984 คิดว่ามีความคล้ายคลึงกันหลายประการ แม้จะไม่ได้เหมือนทุกประการ นั่นเป็นไปไม่ได้เพราะ 1984 เป็นเพียงวรรณกรรม ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดอันเป็นประสบการณ์ของใครหลายคนรวมถึงข้าพเจ้าเอง อาทิ ในสังคมโรงเรียนหรือสถานศึกษา เราถูกแบ่งชนชั้นชัดเจนถึงความเป็น รุ่นน้อง-รุ่นพี่, ครู-นักเรียน และครู-ผู้อำนวยการ/ผู้บริหาร เป็นต้น ผู้อำนวยการหรือผู้บริหารเปรียบเสมือนผู้นำ มีนโยบาย วิสัยทัศน์ในการพัฒนาโรงเรียนไปในแบบอุดมคติของตนหรืออุดมคติร่วมของคนในสังคม ครูเปรียบเสมือนกลุ่มชนชั้นกลาง คอยทำตามคำสั่งผู้นำ และนักเรียน เสมือนชนชั้นกรรมมาชีพ แรงงานทาสที่ไม่มีสิทธิ์ค้านหรือโต้แย้ง หรือแม้แต่รุ่นพี่-รุ่นน้องที่ถูกแบ่งชนชั้น อนึ่งว่าความอาวุโสหรือวัยวุฒิ เป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดการใช้อำนาจต่อผู้ที่ต่ำกว่า 


            จะเห็นได้ว่าเราอยู่กับ “อำนาจสำเร็จรูป” เหล่านี้มานาน จนหลายคนอาจชินชา และเฉยชาต่อมัน เพราะเราถูกสอนโดยเปรียบเทียบกับอดีตที่เลวร้ายกว่าที่เป็นอยู่ของตน แต่มิได้นำไปเทียบเคียงกับอารยประเทศ ยกตัวอย่างเช่น การสอนประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยมอย่างการเลิกทาส ทำให้รู้สึกว่าปัจจุบันเราได้ถูกปลดแอกและมีคุณค่าความเป็นมนุษย์มากขึ้น ทว่าถ้าศึกษาในเชิงลึกนั้น มันมีเหตุผลบางอย่างในการกระทำอย่างมีนัยยะ






ทำไมถึงรัก “พี่เบิ้ม” และการควบคุมความคิดนั้นเป็นไปได้หรือ ?

            นับว่า 1984 เป็นวรรณกรรมเรื่องหนึ่งที่จบด้วยโศกนาฏกรรมอย่างสมบูรณ์แบบ และมีความสวยงามในตัวของมัน 1984 ทันต่อเหตุการณ์ในอดีต ปัจจุบัน และเป็นไปได้ว่าในอนาคตก็จะยังมีทิศทางเดียวกัน ในความเป็นจริงพี่เบิ้มอาจไม่เป็นอย่างใน 1984 ลองคิดดูว่าในชีวิตปกติ มีท่านผู้นำหรือผู้มีบารมีที่คนทั้งประเทศเทิดทูนเคารพ พี่เบิ้มในนิยายอาจก่อความหวาดกลัว 


ในขณะที่ผู้นำผู้มีบวรมีในความเป็นจริงก่อให้เกิดความยำเกรง และจงรักภักดี ในลัทธิบูชาผู้นำมักอาศัยการกล่อมประสาทให้เห็นด้านพระคุณมากกว่าพระเดช[6] ในช่วงท้ายของเรื่องคือการเกิดกบฏในตัววินสตัน และจูเลีย เป็นการกบฏในตัวปัจเจกบุคคล ทั้งสองทนไม่ได้ อึดอัดกับกฎเกณฑ์ และแสดงออกโดยการละเมิดของสังคมด้วยการมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งต่อกัน แต่ท้ายที่สุดทั้งสองก็ต้องยอมแพ้ การยอมแพ้ของทั้งสองคือ “ฉันขายเธอ เธอขายฉัน” ต่างฝ่ายต่างโทษอีกฝ่ายหนึ่ง และเมื่อนั้นพี่เบิ้มจะปล่อยเขาทันที 


การทรมานให้ตายอย่างไรก็ไม่เท่ากับการขายจิตวิญญาณ เป็นผลให้เขาหมดความเคารพในความเป็นตัวเขา[7] ในท้ายที่สุดเขาก็จะลืมว่า 2+2 เท่ากับ 4 แต่อาจเป็น 3 หรือ 5 ได้โดยเชื่ออย่างสนิทใจเมื่อรัฐบอกให้มันเป็นเช่นนั้น







พี่เบิ้มมีจริงหรือ? หากยังมีความหวัง ทำไมต้องมีในหมู่กรรมาชน?

            “พี่เบิ้มมีตัวตนจริงไหม” เป็นคำถามหนึ่งที่วินสตันถามโอไบรอัน เช่นเดียวกับที่จูเลียคิดว่า พี่เบิ้มอาจไม่มีอยู่จริง
 เขาอาจมีตัวตนเช่นเดียวกับที่พรรคมี พี่เบิ้มเป็นจุดศูนย์รวมพรรค แต่อาจเป็นเพียงนามธรรมที่จอร์จ ออร์เวลล์ ต้องการสะท้อนนัยยะบางอย่าง พี่เบิ้มอาจเป็นนัยยะของอำนาจ ซึ่งมิเชล ฟูโกต์ (Michel Foucault)[8] มองว่า 

“จารีต ปฏิบัติ และกฎเกณฑ์ของสังคมซึ่งอยู่ในรูปของวาทกรรมและภาคปฏิบัติการจริงของวาทกรรม อย่างไรก็ตาม เอกลักษณ์และความหมายมีลักษณะที่ลื่นไหล เปลี่ยนแปลงไปตามวาทกรรมที่สร้างสิ่งเหล่านั้น ขึ้นมา ไม่แน่นอน ตายตัว หรือหยุดนิ่ง เพราะฉะนั้นวาทกรรมจึงเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติซึ่งกระทำต่อสรรพสิ่ง และได้บังคับยัดเยียดให้กับโลกของความเป็นจริง เพราะมันได้สร้างเหตุการณ์และกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ขึ้นมาบังคับใช้กับทุกสิ่ง” 

            อย่างไรก็ตามหากมองว่า ถ้าตอนจบของเรื่องไม่ได้เป็นเช่นนี้ แต่การกบฏเกิดผล กรรมาชนลุกฮือขึ้นมาต่อกรกับอำนาจรัฐ มีความเป็นไปได้หรือโอกาสที่จะเกิดขึ้นหรือไม่? ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่าการที่จะทำให้เหล่ากรรมาชนจะออกมาต่อต้านอำนาจอันไม่เป็นธรรมนั้น พวกเขาต้องเข้าใจเสียก่อนว่าพวกเขากำลังเผชิญกับความไม่เป็นธรรม เขาจะไม่เข้าใจเสรีภาพจนกว่าจะมีเสรีภาพ นั่นคือการปลดแอกจากการกดขี่เขาต้องมีความรู้ 


เช่นว่า ปาร์กยอนมี สาวเกาหลีเหนือที่ตาสว่างหลังลอบดูไททานิก เขาเห็นว่าชายคนหนึ่งยอมสละชีวิตเพื่อผู้หญิงอีกคนเป็นเรื่องน่าประหลาดใจ แทนที่จะเป็นเพื่อชาติ ซึ่งใครหลายคนว่านั่นเป็นเรื่องของความรัก ความรักเป็นวัฒนธรรมไม่ได้มีมาโดยธรรมชาติ[9]








* งานชิ้นนี้เป็นผลงานส่วนหนึ่งของรายวิชา มธ.101 โลก อาเซียน และไทย โดยนำความรู้ ทฤษฎี และกรอบแนวคิดระเบียบวิจัยทางสังคมศาสตร์ โดยผ่านมุมมองของนักสังคมศาสตร์ผสานความเป็นนักวิทยาศาสตร์ในการวิเคราะห์บริบท ความต้องการที่จะสะท้อนความคิดของผู้เขียนออกมา ข้าพเจ้าขอขอบพระคุณ อาจารย์อัครพงษ์ ค่ำคูน อาจารย์ผู้สอนและประสานงาน รวมทั้งผู้ช่วยสอนและประสานงาน และวิทยากรผู้บรรยายพิเศษทุกท่านที่ไม่ได้เอ่ยนามซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแรงบันดาลใจในงานชิ้นนี้
[1] ผู้แปล (2558)
[2] ธงชัย วินิจจะกูล. (2552). มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: กลางวันมืด กลางคืนกลับสว่าง. อำนาจกับการขบถ (online). สืบค้นเมื่อ 23 กันยายน 2559. จาก  http://v1.midnightuniv.org/midnighttext/0009999741
[3] ธงชัย วินิจจะกูล (2552). มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: กลางวันมืด กลางคืนกลับสว่าง. อำนาจกับการขบถ (online). สืบค้นเมื่อ 23 กันยายน 2559. จาก  http://v1.midnightuniv.org/midnighttext/0009999741
[4] สุพจน์ ด่านตระกูล (2528), รบทำไมและรบเพื่อใคร? กับทางรอดของไทย (พิมพ์ครั้งที่ 2, นนทบุรี: สันติธรรม), น.14
[5] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ (2557). ประชาไท. สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: 1984 กับการปรับทัศนคติ (online). สืบค้นเมื่อ 23 กันยายน 2559. จาก http://prachatai.com/journal/2014/07/54641
[6] ธงชัย วินิจจะกูล (2552). มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: กลางวันมืด กลางคืนกลับสว่าง. อำนาจกับการขบถ (online). สืบค้นเมื่อ 23 กันยายน 2559. จาก  http://v1.midnightuniv.org/midnighttext/0009999741
[7] ธงชัย วินิจจะกุล (2553). ประชาไท. ธงชัย วินิจจะกูล: 'สนทนาท่ามกลางภาวะฝุ่นตลบ’ (online). สืบค้นเมื่อ 23 กันยายน 2559 . จาก http://www.prachatai.com/journal/2010/07/30508
[8] โปรดดู โลกกาภิวัตน์จากข้างล่าง: ฟูโกต์ บูร์ดิเยอ, และอัปปาดูรัย (เอกสารอิเล็กทรอนิกส์). สืบค้นจาก v1.midnightuniv.org/midnighttext/000982.doc
[9] นิธิ เอียวศรีวงศ์ (2557). ประชาไท. นิธิ เอียวศรีวงศ์: ความรักกับเผด็จการ (online). สืบค้นเมื่อ 23 กันยายน 2559. จาก http://www.prachatai.com/journal/2014/09/55723

ความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

“สิงห์แดง” ในความทรงจำของ “มหาวิทยาลัยแห่งเสรีภาพ” กับความภาคภูมิใจในระบบ Seniority จากมุมมองนักศึกษา “มธ.ตะวันออก”

“สิงห์แดง” ในความทรงจำของ “มหาวิทยาลัยแห่งเสรีภาพ” กับความภาคภูมิใจในระบบ Seniority จากมุมมองนักศึกษา “มธ.ตะวันออก” รัฐพงศ์ หมะอุ [1]   ที่มา : http://www.polsci.tu.ac.th/nw_polsci/   บทนำ          "สิงห์แดง" เป็นคำพูดติดหูสำหรับผู้ที่มีใจฝักใฝ่ในวงการรัฐศาสตร์ ปฏิเสธไม่ได้ว่า "สิงห์แดง" ถือเป็นหนึ่งในคณะที่ยอดนิยมมากที่สุดเป็นอันดับต้น ๆ  ของประเทศ จะด้วยเหตุผลที่เป็นคณะที่ผลิตบัณฑิตเข้าสู่วงการราชการ วิชาการ และอื่นๆ ซึ่งแน่นอนว่าบรรดาศิษย์เก่าที่กล่าวมานั้น หลายท่านเป็นที่ยอมรับและเป็นที่นับถือ กระนั้นก็ตาม ดังที่ได้กล่าวไปข้างต้น บรรดาศิษย์เก่าที่ได้เข้าไปดำรงตำแหน่งอันเป็นผู้กุมชะตากรรมประเทศและมีผลกระทบต่อชีวิตของประชาชนในประเทศนั้น เบื้องลึกเบื้องหลังได้รับการปลูกฝังค่านิยมอุปถัมภ์ในหมู่คณะ บทความนี้จึงชวนพินิจจุดเริ่มต้น ตลอดจนวิวัฒนาการของแนวคิด อุดมการณ์ นับแต่แรกเริ่มธรรมศาสตร์จนถึงปัจจุบัน แรกเริ่มของธรรมศาสตร์ ภายหลังการอภิวัฒน์ พ.ศ.2475 เมื่อระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยไม่เพียงพอต่อการพัฒนาประเทศชาติให้เจร

พื้นที่ประชาธิปไตย ทำยังไงให้ได้มา

พื้นที่ประชาธิปไตย ทำยังไงให้ได้มา Democratic Space and How to Find It รัฐพงศ์ หมะอุ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์   * หมายเหตุ:บทความนี้ได้รับรางวัลชนะเลิศในการประกวดบทความในหัวข้อ“พื้นทีประชาธิปไตย ( Democratic Space)" ระดับมหาวิทยาลัย โดย คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ความนำ เสียงโห่ร้องของมวลชนนับแสนที่ก่อการลุกฮือขึ้นใจกลางเมืองหลวงของประเทศดังกังวานก้องไปทั่วลานอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ชัยชนะของเหล่านิสิตนักศึกษาที่รวมพลเรียกร้องประชาธิปไตยอันเป็นของประชาชนกลับคืนสู่ประเทศไทยได้อย่างงดงาม  กลายเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ที่ถูกจารึกไว้ในตำราหนังสือให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา แต่น่าเศร้า ฉากแห่งชัยชนะของศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาผ่านไปเพียงไม่นาน กลับกลายเป็นฉากโศกนาฏกรรมความรุนแรง ที่นำมาซึ่งความเจ็บปวด และความอิหลักอิเหลื่อต่อปมปัญหา เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 บรรยากาศของประชาธิปไตยเลือนหายไป สนามฟุตบอล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และท้องสนามหลวงประดุจลานประหารนักโทษทางคว