ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

พื้นที่ประชาธิปไตย ทำยังไงให้ได้มา






พื้นที่ประชาธิปไตย ทำยังไงให้ได้มา

Democratic Space and How to Find It



รัฐพงศ์ หมะอุ

คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์



  *หมายเหตุ:บทความนี้ได้รับรางวัลชนะเลิศในการประกวดบทความในหัวข้อ“พื้นทีประชาธิปไตย (Democratic Space)" ระดับมหาวิทยาลัย โดย คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย








ความนำ


เสียงโห่ร้องของมวลชนนับแสนที่ก่อการลุกฮือขึ้นใจกลางเมืองหลวงของประเทศดังกังวานก้องไปทั่วลานอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ชัยชนะของเหล่านิสิตนักศึกษาที่รวมพลเรียกร้องประชาธิปไตยอันเป็นของประชาชนกลับคืนสู่ประเทศไทยได้อย่างงดงาม  กลายเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ที่ถูกจารึกไว้ในตำราหนังสือให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา


แต่น่าเศร้า ฉากแห่งชัยชนะของศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาผ่านไปเพียงไม่นาน กลับกลายเป็นฉากโศกนาฏกรรมความรุนแรง ที่นำมาซึ่งความเจ็บปวด และความอิหลักอิเหลื่อต่อปมปัญหา เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 บรรยากาศของประชาธิปไตยเลือนหายไป สนามฟุตบอล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และท้องสนามหลวงประดุจลานประหารนักโทษทางความคิด


นิสิตนักศึกษาและประชาชนผู้ชุมนุมถูกกระทำอย่างโหดร้าย เสียงปืนประหนึ่งสัญญาณเริ่มต้นนำประเทศเข้าสู่สภาวะสงคราม ปมขัดแย้งทางความคิดของคนในชาติทวีความรุนแรงลุกลามเหมือนวาตภัยร้าย แม้สุดท้ายมรสุมจะสงบลง แต่เหตุการณ์นั้นยังคงเป็นฝันร้ายตามหลอกหลอนคนในชาติตลอดมา



เหตุการณ์ชุมนุมประท้วงในประเทศไทยเกิดขึ้นอีกหลายครั้ง และเป็นหลายครั้งที่นำมาซึ่งความสูญเสีย เป็นที่น่าจดจำและชวนตั้งคำถามประชาธิปไตยยิ่ง ใครจะคาดคิดว่าความขัดแย้งจะทวีความรุนแรงได้มากมายถึงเพียงนี้ หรือนี่เป็นความล้มเหลวของประชาธิปไตยในไทยหรือจะกล่าวได้หรือไม่ว่าประชาธิปไตยไม่สามารถเจริญงอกงามบนผืนแผ่นดินขวานทองนี้ได้


            ลิขิต ธีรเวคิน(2546) กล่าวว่า “ถ้าจะเข้าใจการเมืองไทยในปัจจุบันแล้ว จะต้องวิเคราะห์เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519 เพื่อจะได้เห็นภาพโครงสร้างและปัญหาทางการเมืองในลักษณะมหภาค มิฉะนั้นก็จะกลายเป็นวิเคราะห์การเมืองปัจจุบันในลักษณะเลื่อนลอย” นั่นคือการนำเอาเหตุการณ์ทั้งสองมาวิเคราะห์หาตัวแปรต่างๆที่เป็นชนวนสาเหตุการลุกฮือของประชาชนนี้ เพื่อให้เห็นถึงโครงสร้าง กระบวนการทางการเมืองไทยทั้งหมด


โดยมองว่าทั้งสองเหตุการณ์สะท้อนถึงการขาดความพร้อมของสถาบันทางการเมืองในแง่การเปิดพื้นที่การมีส่วนร่วมทางการเมืองและกำหนดกติกา ทั้งนี้ในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม ยังสะท้อนถึงอำนาจทางการเมืองทั้งหมดนั้นยังตกเป็นของสถาบันราชการอย่างมั่นคง ไม่ใช่สถาบันประชาธิปไตยอย่างที่ควรจะเป็น




คำถามที่ว่า ทำอย่างไรให้อำนาจเป็นของสถาบันประชาธิปไตยนั้น คำตอบของมันจึงควรจะทำความเข้าใจความหมายของคำว่า “พื้นที่ประชาธิปไตย” เสียก่อน เพราะการจะได้มาซึ่งพื้นที่ประชาธิปไตยนั้น ต้องเข้าใจว่ามีกลไก รูปแบบอย่างไร และสามารถนำไปพัฒนาประชาธิปไตยให้ธำรงอยู่ได้อย่างไร









พื้นที่ประชาธิปไตยคืออะไร?


ภาพการเดินประท้วงชุมนุมบนท้องถนน การถือป้ายประท้วง หรือกิจกรรมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ กลายเป็นภาพจำเมื่อพูดถึง การแสดงออกตามระบอบประชาธิปไตยสำหรับคนในชาติ อาจจะเป็นเช่นนั้นหากตีความอย่างผิวเผิน



หากทว่าเมื่อพิจารณานัยยะความหมายของ พื้นที่ประชาธิปไตย (democratic space) โดยประกอบจากคำสองคำซึ่งต่างความหมาย คือ คำว่า “พื้นที่” ในทางกายภาพ หมายถึง อาณาบริเวณ ในทางนามธรรมหรือทางความคิด หมายถึง สิทธิหรืออำนาจที่ควรจะได้


ส่วนคำว่า “ประชาธิปไตย” การนิยามความหมายของมัน มีคำนิยามที่แตกต่างกันออกไปอย่างแพร่หลาย ไม่ว่าจะเป็นคำนิยามของอดีตประธานาธิปบดีสหรัฐอเมริกา อับราฮัม ลินคอล์น (Abraham Lincoln) ที่บอกว่าประชาธิปไตยคือ การปกครองของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน หรือของวินสตัน เชอร์ชิลล์ (Winston Churchill) ที่บอกว่า ประชาธิปไตยคือ การปกครองที่เลวน้อย ที่สุดที่มนุษย์คิดค้นขึ้นมาได้ หรือที่นักคิดหลายคนนิยามว่า ประชาธิปไตยคือ การปกครองตนเองร่วมกันของพลเมือง การให้คำนิยามกับคำว่าประชาธิปไตยจึงเป็นเรื่องของปัจเจก ขึ้นอยู่กับทัศนคติที่มีต่อมัน


การนิยามประชาธิปไตยแบบหนึ่งย่อมไปกำหนดความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างรัฐกับประชาชน สร้างความชอบธรรมให้กับระบอบการปกครองและการเคลื่อนไหวทางการเมืองบางประเภท และสนับสนุนหรือยับยั้งการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่กำลังจะเกิดขึ้น และเป็นระบอบของการเปลี่ยนผ่านอำนาจหรือสืบทอดอำนาจอย่างสันติ (ประจักษ์ ก้องกีรติ, 2558)



อย่างไรก็ตาม ประชาธิปไตยในความเข้าใจโดยทั่วกันย่อมหมายถึง อำนาจอันมีประชาชนเป็นเจ้าของ นั่นคือ พื้นที่ประชาธิปไตย (democratic space) เป็นกระบวนการที่ให้โอกาสคนมาต่อสู้กันตามกติกา เจรจาต่อรอง ตกลงแบ่งปันกัน


แต่ที่สำคัญที่สุดคือต้องเป็นกระบวนการที่ให้คนในสังคมซึ่งมีผลประโยชน์หลากหลายแตกต่างกันมาต่อสู้กันตามกติกา มาเจรจาต่อรองกันได้ ก็แปลว่าต้องเป็นกระบวนการที่เปิดโอกาสให้คนมีส่วนร่วม(ธงชัย วินิจกูล, 2557) ฉะนั้นพื้นที่ประชาธิปไตย จึงไม่ใช่แค่พื้นที่ทางกายภาพที่มีรูปร่าง สามารถสัมผัส และมองเห็นได้ด้วยตา แต่ยังรวมถึงพื้นที่ทางความคิดนามธรรมด้วย



หากเปรียบเทียบ “พื้นที่ประชาธิปไตย” กับคำว่า “ตลาด” ในทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นที่สำหรับซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้า และบริการ รวมไปถึงปัจจัยการผลิต ซึ่งสิ่งสำคัญของคำว่า “ตลาด” ไม่ใช่สถานที่ แต่เป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างหาก เช่นเดียวกับ “พื้นที่ประชาธิปไตย” ที่ไม่จำเป็นต้องเดินขบวนบนท้องถนน หรือปักหลักชุมนุม สิ่งสำคัญคือ กระบวนการทางความคิดในแบบประชาธิปไตยต่างหากที่สำคัญยิ่งกว่า








ยุคสมัยกับพื้นที่ทางการเมือง






ในยุคสมัยที่เทคโนโลยีเข้ามามีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมและความคิดของคนในโลก ข้อมูลข่าวสารจำนวนมหาศาลอันสามารถถ่ายเทจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งในระยะทางใกล้-ไกลได้เพียงช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น ผู้คนต่างเสพข้อมูลสารสนเทศ ข่าวสารจากโลกออนไลน์ได้หลากหลายช่องทาง กลายเป็นพฤติกรรมของคนในสังคมที่ถูกเรียกว่า “สังคมก้มหน้า” 


เช่นเดียวกับพื้นที่ในการแสดงออกทางการเมืองที่ต้องมีการปรับตัวไปตามพลวัตรของโลก จึงไม่แปลกหากจะมีคนกล่าวว่า “คนหนุ่มสาวสมัยนี้ไม่มีอุดมการณ์ทางการเมือง เฉกเช่นคนในยุค 14 ตุลาคม 2516 หรือ 6 ตุลาคม 2519” เพียงเพราะเชื่อว่าการได้มาซึ่งพื้นที่ประชาธิปไตย จะต้องแสดงออกโดยการเดินขบวนประท้วง หรือกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์  อย่างที่กล่าวไปข้างต้น


แต่การเดินทางของเวลาไม่ได้เดินทางเป็นเส้นตรงเท่านั้น มันสามารถยืดหดได้ตามทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษของไอน์สไตน์ ส่งผลให้การกระทำบางอย่างอาจมีผลแตกต่างกันไป แต่แท้จริงแล้วผลของมันกลับเหมือนกัน ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้เป็นผลมาจากกรอบอ้างอิงที่ต่างกันเท่านั้น จึงไม่แปลกที่การแสดงออกทางการเมืองมีรูปแบบต่างออกไป แม้เพื่อผลลัพธ์เดียวกันก็ตาม เป็นที่น่าสนใจว่า การได้มาซึ่งพื้นที่การเมืองของคนหนุ่มสาวในยุคสมัยใหม่ จึงกลายเป็นการครองพื้นที่สื่อ และโลกออนไลน์









พื้นที่ประชาธิปไตยบนโลกเสมือนจริง






ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาFacebookคือหนึ่งในสังคมออนไลน์ที่กลายสภาพเป็นพื้นที่ทางการเมืองไทยอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะช่วงวิกฤติทางการเมือง จะเห็นได้จากช่วง ปี 2553 สถิติการติดตามแฟนเพจทางการเมืองที่มีจำนวนสูงมาก เช่น


แฟนเพจ "มั่นใจว่าคนไทยเกิน 1 ล้าน ต่อต้านการยุบสภา" มีผู้ใช้สมัครติดตามมากกว่า 420,000 คน (17.00น. วันที่ 24 เมษายน 2553) ซึ่งผู้ชุมนุมส่วนใหญ่เป็นสมาชิกของแฟนเพจ และยังมีอีหลายแฟนเพจทางการเมืองอื่น ๆ  อีกมากมาย ซึ่งมียอดผู้ติดตามเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ  ตามสถานการณ์ทางการเมืองที่เริ่มรุนแรงขึ้น



นัยยะของการรวมคนกลุ่มหนึ่งบนโลกออนไลน์ เป็นการสร้างชุมชนจินตกรรม(ซึ่งเป็นชุมชนเสมือนจริงที่ไม่มีการพบปะกัน แต่มีแนวความคิดหรือวัตถุประสงค์ที่เหมือนกัน และรวมตัวกันทางชุมชนออนไลน์) เพื่อสร้างอุดมคติ ความคิดทางการเมือง ทำให้มิติทางการเมืองมีการเปลี่ยนแปลงมาสู่เครือข่ายทางสังคมรูปแบบใหม่ (New Social Network)


การมีส่วนร่วมทางการเมืองของกลุ่มออนไลน์ทาง Facebook ที่มีการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองซึ่งมีทั้งฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายที่เป็นปฏิปักษ์ได้มีการรวมกลุ่มกันเป็นชุมชนเสมือนจริงทางการเมือง สามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลหรือกระทำตนเป็นแหล่งข้อมูลเองได้อย่างง่ายดาย ตลอดจนการนำข้อมูลข่าวสารมาใช้ในการสนับสนุนอุดมการณ์ความเชื่อของตน และหักล้างทำลายความเชื่อถือของข้อมูลอีกฝ่าย เสมือนสงครามข้อมูลข่าวสาร (war of information) ทำให้พื้นที่ประชาธิปไตยถูกขยายเป็นวงกว้าง


แต่พื้นที่ประชาธิปไตยบนโลกเสมือนจริงนี้ จะเป็นไปไม่ได้ หากการสื่อสารทางการเมืองมาจากรัฐเป็นผู้กุมอำนาจเพียงผู้เดียว หมายความว่า รัฐครอบครองพื้นที่สื่อทั้งหมด ทำให้ข้อมูลข่าวสารที่ได้มาเป็นขอมูลที่รัฐพึงปารถนาให้ประชาชนรับรู้ในแบบที่รัฐต้องการจะให้เป็น



การสร้างพื้นที่ประชาธิปไตยจึงต้องให้การสื่อสารทางการเมืองจากที่รัฐเป็นผู้กุมอำนาจเพียงผู้เดียว มาสู่ประชาชนมีส่วนร่วมในการสื่อสารมากยิ่งขึ้นเพื่อให้เกิดบรรยากาศของการถกเถียงตามรูปแบประชาธิปไตยอย่างที่ควรจะเป็น แต่สิ่งหนึ่งที่ปัดความสนใจไม่ได้คือ ความใจกว้างพอในการรับรู้ความคิดของผู้ผู้อื่น ซึ่งอาจเห็นต่าง แล้วเริ่มขบคิดถึงความแตกต่างและปัญหาที่เกิดขึ้นจริง ๆ ในสังคม



การถ่ายเทข้อมูลสารสนเทศที่เร็วยิ่งยวดในปัจจุบัน ดังที่เห็นได้ตามหน้าสื่อที่มีการถ่ายทอดข้อมูลข่าวสารจากเหตุการณ์จริงอย่างทันด่วน ผลกระทบตรงนี้ทำให้เห็นว่ายิ่งการกระจายข่าวที่โยงใยเป็นเครือข่ายได้รวดเร็วกว่า ก็ยิ่งมีพื้นที่ทางความคิดมากว่า จึงทำให้ Twitter เป็นรูปแบบหนึ่งของพื้นที่ทางการเมืองบนโลกออนไลน์ที่ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือ แม้ว่าจะมีข้อจำกัดในด้านปริมาณของการแสดงผล คือ มีการส่งข้อความสั้นที่เรียกว่า Microblog แต่จุดเด่นคือ การแพร่หลายที่ไวกว่า รวมถึงการปกปิดตัวตนของผู้ใช้งานได้ดีกว่า ทำให้ Twitter กลายเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งสำหรับพื้นที่ทางการเมือง



เว็บไซต์เครือข่ายสังคม Facebook และ Twitter จึงเป็นพื้นที่สำหรับการเคลื่อนไหวในทางการเมืองที่สำคัญ โดยเหตุผลหลักที่สำคัญนั้นไม่ใช่ความรวดเร็วหรือคุณลักษณะที่เว็บไซต์อื่นไม่มี แต่เป็นเพราะเว็บไซต์เครือข่ายสังคมเหล่านี้ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของคนส่วนใหญ่ไปเสียแล้ว กลายเป็นพื้นที่ที่ต้องผ่านทุกวัน (อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล, 2555) ฉะนั้นการได้มาซึ่งพื้นที่ประชาธิปไตยบนสังคมออนไลน์เหล่านี้ จึงเป็นสิ่งที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างมากกว่า



พิจารณาจากเหล่าคนดังที่มีชื่อเสียง ซึ่งมีพื้นที่สื่อในการแสดงออกมากกว่าบุคคลทั่วไป และมีอิทธิพลต่อความคิดของคนมากกว่า นั่นคือการใช้สื่อเป็นเครื่องมือผลิตวาทกรรมเพื่อให้ผู้รับสารเกิดความเห็นคล้อยตาม เนื่องจากว่า การได้รับข้อมูลซ้ำเดิมบ่อย ๆ  นั้นจะมีผลต่อความคิด โดยจะค่อย ๆ  ยอมรับข้อมูลเหล่านั้น และอาจจะกลายเป็นข้อเท็จจริงได้ในที่สุด เช่นเดียวกับที่ใช้ความศรัทธา เลื่อมใสของคนซึ่งมีต่อศาสนา โดยมองว่าศาสนาคือความถูกต้อง และเชื่อเช่นนั้นเมื่อข้อมูลเหล่านั้นถูกผูกโยงกับศาสนา แม้ว่าข้อเท็จจริงอาจไม่ใช่ก็ตาม






บทสรุป


พื้นที่ประชาธิปไตยในยุคสมัยนี้คงไม่ใช่แค่การออกไปรวมตัวกันบนท้องถนนเมื่อรัฐบาลกระทำการอันลิดรอนสิทธิพลเมือง ชูป้ายประท้วงเพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยต่อนโยบายของรัฐ หรือจัดงานเสวนาที่มีหัวข้อชวนให้ขบคิดประเด็นต่าง ๆ  อันนำไปสู่การแก้ไขปัญหา 


แต่ยังรวมถึงการใช้พื้นที่สื่อในสังคมออนไลน์ ซึ่งเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิต การพูดถึงปัญหาหรือแม้แต่การตัดพ้อต่อปัญหาบนพื้นที่สื่อเหล่านี้ กลับเป็นส่วนหนึ่งของการที่จะทำให้ประชาธิปไตยถูกพัฒนา เพราะปัญหาเหล่านั้นจะถูกกระตุ้นและเกิดการถกเถียงอย่างเป็นวงกว้าง


ต้องเข้าใจว่าการทำกิจกรรมเพื่อต่อสู้ในทางการเมืองก็เป็นทางเลือกที่ดี แต่ในสถานการณ์ที่ไม่ปกติเช่นเวลานี้การทำกิจกรรมต่าง ๆ  ทางการเมืองย่อมมีความเสี่ยงสูง เช่นเดียวกับเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519 ไม่ใช่ว่าการชุมนุมประท้วงจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในเวลานั้น แต่เพราะถูกปิดการเข้าถึงพื้นที่ทางการเมืองอื่น ๆ  ทำให้ไม่สามารถใช้พื้นที่ประชาธิปไตยได้อย่างที่ควรจะเป็น จึงกลายเป็นรัฐที่สร้างเงื่อนไขให้ออกมาชุมนุมประท้วง


การตระหนักรู้ถึงความสำคัญของสิทธิ เสรีภาพ ซึ่งระบอบประชาธิปไตยได้มอบให้ และหวงแหนมัน  ย่อมต้องตระหนักด้วยว่า ประชาธิปไตยไม่ได้ดำรงอยู่ด้วยตัวมันเอง หากแต่ต้องการให้ยึดมั่นและพัฒนา เพื่อที่จะธำรงซึ่งระบอบประชาธิปไตย ฉะนั้นจึงควรตระหนักถึงพื้นที่ประชาธิปไตยที่มีอยู่ให้มั่นคง 


การเพิกเฉยต่ออำนาจรัฐที่พยายามครองและจำกัดพื้นที่ทางการเมือง ก็มิได้ต่างจากภูเขาไฟที่รอวันประทุออกมา เมื่อสังคมถูกปิดกั้น ไม่เหลือพื้นที่ในการแสดงออกทางการเมืองให้คนได้เคลื่อนไหว คนก็จะออกมาเคลื่อนไหวบนท้องถนน เพราะรูว่านั่นคือทางเดียวในการแสดงออกเพื่อสร้างอำนาจต่อรองกับรัฐ










*********************************************************************************



อ้างอิง


อ้างอิงเอกสาร:

ธงชัย วินิจกูล ใน เป็นเอก รัตนเรือง. (2557). ประชาธิป'ไทย. กรุงเทพ: มติชน.

ประจักษ์ ก้องกีรติ. (2558). ประชาธิปไตยในยุคเปลี่ยนผ่าน: รวมบทความว่าด้วยประชาธิปไตย ความรุนแรง และความยุติธรรม.กรุงเทพฯ: ฟ้าเดียวกัน.

ลิขิต ธีรเวคิน. (2546).วิวัฒนาการการเมองการปกครองไทย.กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล, (2555). การเมืองบนเฟซบุ๊ก: วัฒนธรรม-การเมืองบนเครือข่ายสังคมออนไลน์ไทย พ.ศ. 2553-2555. (วิทยานิพนธ์ สาขาวิชามานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์).


อ้างอิงเว็บไซต์:

ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ. (2555). ส่งคนตุลาเขานอน. สืบค้นเมื่อ 27 กุมภาพันธ์, 2560,  จาก http://waymagazine.org/ส่งคนตุลาเข้านอน/

บาว นาคร. (2553). อินเทอร์เน็ตกับการสื่อสารทางการเมืองไทย.สืบค้นเมื่อ 1 มีนาคม 2560, จาก http://www.deepsouthwatch.org/node/760















ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

บทวิจารณ์วรรณกรรม เรื่อง Nineteen Eighty-Four (1984) by George Orwell

บทวิจารณ์วรรณกรรม เรื่อง Nineteen Eighty-Four (1984) by George Orwell * รัฐพงศ์    หมะอุ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์             วรรณกรรมการเมืองคลาสสิกของโลก เรื่อง 198 4 ซึ่งประพันธ์โดย จอร์จ ออร์เวลล์ (George Orwell) ที่สะท้อนภาพสังคมอันถูกจำกัดไว้ซึ่งสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานอย่างสิ้นเชิง ผ่านสำนวนการเสียดสีและแฝงไปด้วยความขัดแย้ง ซึ่งถูกถ่ายทอดออกมาในสำนวนการเขียนของ สรวงอัปสร กสิกรานันท์ [1]   เป็นที่น่าสนใจว่า 1984 พยายามตั้งคำถามโดยการมองมุมกลับกับสังคมที่ดูราวกับว่า “ปกติ” ทั้งที่เป็น “ความปกติที่ไม่ปกติ” สังคมแบบย้อนแย้งระหว่างกรอบแนวคิดและวิธีปฏิบัติที่เรียกว่า คิดสองชั้น (Double think) จนกลายเป็นความสำพันธ์ที่ซับซ้อนในเชิงอำนาจ 1984 กับภาพสะท้อนโลก อาเซียน และไทย             หนังสือ 1984 ถูกตีพิมพ์ในช่วงสงครามเย็น (cold war) และแสดงให้เห็นถึงความน่ากลัวของสังคมแบบเผด็จการเบ็ดเสร็จ (Totalitarianism) ซึ่งชี้ให้เห็นว่าเทคโนโลยีมีส่วนสำคัญในการทำให้เกิดสังคมนิยมเบ็ดเสร็จหรือในทางกลับกันนั้น อำนาจเบ็ดเสร็จจำเป็นต

“สิงห์แดง” ในความทรงจำของ “มหาวิทยาลัยแห่งเสรีภาพ” กับความภาคภูมิใจในระบบ Seniority จากมุมมองนักศึกษา “มธ.ตะวันออก”

“สิงห์แดง” ในความทรงจำของ “มหาวิทยาลัยแห่งเสรีภาพ” กับความภาคภูมิใจในระบบ Seniority จากมุมมองนักศึกษา “มธ.ตะวันออก” รัฐพงศ์ หมะอุ [1]   ที่มา : http://www.polsci.tu.ac.th/nw_polsci/   บทนำ          "สิงห์แดง" เป็นคำพูดติดหูสำหรับผู้ที่มีใจฝักใฝ่ในวงการรัฐศาสตร์ ปฏิเสธไม่ได้ว่า "สิงห์แดง" ถือเป็นหนึ่งในคณะที่ยอดนิยมมากที่สุดเป็นอันดับต้น ๆ  ของประเทศ จะด้วยเหตุผลที่เป็นคณะที่ผลิตบัณฑิตเข้าสู่วงการราชการ วิชาการ และอื่นๆ ซึ่งแน่นอนว่าบรรดาศิษย์เก่าที่กล่าวมานั้น หลายท่านเป็นที่ยอมรับและเป็นที่นับถือ กระนั้นก็ตาม ดังที่ได้กล่าวไปข้างต้น บรรดาศิษย์เก่าที่ได้เข้าไปดำรงตำแหน่งอันเป็นผู้กุมชะตากรรมประเทศและมีผลกระทบต่อชีวิตของประชาชนในประเทศนั้น เบื้องลึกเบื้องหลังได้รับการปลูกฝังค่านิยมอุปถัมภ์ในหมู่คณะ บทความนี้จึงชวนพินิจจุดเริ่มต้น ตลอดจนวิวัฒนาการของแนวคิด อุดมการณ์ นับแต่แรกเริ่มธรรมศาสตร์จนถึงปัจจุบัน แรกเริ่มของธรรมศาสตร์ ภายหลังการอภิวัฒน์ พ.ศ.2475 เมื่อระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยไม่เพียงพอต่อการพัฒนาประเทศชาติให้เจร