ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

“สิงห์แดง” ในความทรงจำของ “มหาวิทยาลัยแห่งเสรีภาพ” กับความภาคภูมิใจในระบบ Seniority จากมุมมองนักศึกษา “มธ.ตะวันออก”



“สิงห์แดง” ในความทรงจำของ “มหาวิทยาลัยแห่งเสรีภาพ” กับความภาคภูมิใจในระบบ Seniority จากมุมมองนักศึกษา “มธ.ตะวันออก”


รัฐพงศ์ หมะอุ[1]


ที่มา: http://www.polsci.tu.ac.th/nw_polsci/
 

บทนำ


         "สิงห์แดง" เป็นคำพูดติดหูสำหรับผู้ที่มีใจฝักใฝ่ในวงการรัฐศาสตร์ ปฏิเสธไม่ได้ว่า "สิงห์แดง" ถือเป็นหนึ่งในคณะที่ยอดนิยมมากที่สุดเป็นอันดับต้น ๆ  ของประเทศ จะด้วยเหตุผลที่เป็นคณะที่ผลิตบัณฑิตเข้าสู่วงการราชการ วิชาการ และอื่นๆ ซึ่งแน่นอนว่าบรรดาศิษย์เก่าที่กล่าวมานั้น หลายท่านเป็นที่ยอมรับและเป็นที่นับถือ กระนั้นก็ตาม ดังที่ได้กล่าวไปข้างต้น บรรดาศิษย์เก่าที่ได้เข้าไปดำรงตำแหน่งอันเป็นผู้กุมชะตากรรมประเทศและมีผลกระทบต่อชีวิตของประชาชนในประเทศนั้น เบื้องลึกเบื้องหลังได้รับการปลูกฝังค่านิยมอุปถัมภ์ในหมู่คณะ บทความนี้จึงชวนพินิจจุดเริ่มต้น ตลอดจนวิวัฒนาการของแนวคิด อุดมการณ์ นับแต่แรกเริ่มธรรมศาสตร์จนถึงปัจจุบัน


แรกเริ่มของธรรมศาสตร์

ภายหลังการอภิวัฒน์ พ.ศ.2475 เมื่อระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยไม่เพียงพอต่อการพัฒนาประเทศชาติให้เจริญรุ่งเรืองได้อย่างสมบูรณ์ หากไร้ซึ่งระบบเศรษฐกิจที่ดี จึงได้ก่อกำเนิดเค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิฐมนูธรรม(ปรีดี พนมยงค์) ขึ้น หรือที่รู้จักกันว่า สมุดปกเหลืองเพื่อมิใช่แค่ให้ประเทศสยามมีเพียงประชาธิปไตยทางสังคม แต่ต้องการให้มีประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจเติบโตไปพร้อมกัน แต่เค้าโครงฯ ฉบับนี้ได้ถูกกล่าหาว่าเป็นความคิดแบบคอมมิวนิสต์ เพราะมีผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ซึ่งเจ้าและขุนนางยังคงเป็นผู้คุมอำนาจอยู่ ผลสืบเนื่องทำให้เกิดการยึดอำนาจ มีการปิดสภาและงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา และออกพระราชบัญญัติคอมมิวนิสต์ โดยมีเหตุผลว่าการพยายามก่อให้เกิดขึ้นซึ่งคอมมิวนิสต์ จะเป็นเหตุนำมาซึ่งความหายนะแก่ประชาราษฎร และเป็นภัยแก่ความมั่นคงของประเทศ[2] ทั้งออกแถลงการณ์ประณามนายปรีดี พนมยงค์ ว่าเป็นคอมมิวนิสต์แจกจ่ายโดยทั่วไป จนเป็นเหตุที่บีบบังคับให้ ปรีดี พนมยงค์ ต้องลี้ภัยไปต่างประเทศ[3]

อย่างไรก็ตาม เมื่อผ่านพ้นวิกฤติครั้งนั้นไป ปรีดี พนมยงค์ ได้กลับประเทศมาบริหารบ้านเมืองอีกครั้ง นำมาซึ่งการพ้นข้อกล่าวหาทุกประการ และเป็นอีกครั้งที่ตระหนักได้ว่าการจะให้ประชาชนเข้าใจจุดประสงค์ของตนนั้น ต้องให้พวกเขามีการศึกษาเสียก่อน โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจการเมือง จึงกลายเป็นแนวคิดที่มาของการก่อตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองขึ้น เพื่อหวังจะต้องการให้ ประการแรก คือ เปิดโอกาสให้ประชาชนได้รับการศึกษา วิชาธรรมศาสตร์และการเมือง อันได้แก่ วิชากฎหมาย วิชาการเมือง การปกครอง วิชาเศรษฐกิจ เป็นต้น ประการที่สอง คือ เงินค่าสมัครเข้าเป็นนักศึกษาที่เหลือจากการจัดตั้งมหาวิทยาลัยนั้น สามารถนำไปจัดตั้งธนาคารเอเชีย เพื่อการพาณิชย์และอุตสาหกรรมเจริญมีฐานะมั่นคง[4] คุณหญิงบรรเลง ชัยนาม ธรรมศาสตรบัณฑิต(ธ.บ.)หญิงคนแรก เมื่อ พ.ศ.2478 ได้กล่าวถึงเสรีภาพในการเรียนของมหาวิทยาลัยที่เป็นตลาดวิชา โดยกล่าวความรู้สึกที่ได้เข้าศึกษาว่า “... ธรรมศาสตร์ให้ความเสมอภาคกันหมด สบายใจ วิชาที่เรียนเป็นวิชาที่รักและสนใจ[5] ซึ่งถือเป็นลักษณะที่สำคัญของสังคมประชาธิปไตย 

ช่วงปลายเดือนมีนาคม พ.ศ.2492 ภายหลัง กบฏวังหลวงรัฐบาลได้พยายามผลักดันร่าง พระราชกำหนดมหาวิทยาลัยกรุงเทพโดยมีสาระสำคัญ เพื่อเปลี่ยนชื่อมหาวิทยาลัย อีกทั้งการจัดตั้ง 4 คณะขึ้นมา คือ คณะนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และพาณิชยศาสตร์และการบัญชี พร้อมยกเลิกตำแหน่งผู้ประศาสน์การ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เข้ามาดูแล ควบคุม แทนการบริหารอย่างอิสระ แต่ได้ถูกคณะกรรมการมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ร่วมกันทำความเห็นแย้งว่า รัฐบาลไม่มีอำนาจออกพระราชกำหนดฯ ดังกล่าว

การแยกระบบการศึกษาออกเป็น 4 คณะ ในเบื้องได้มีข้อถกเถียง มาตั้งแต่ปี 2491 เหตุผลทางการศึกษา ที่ตั้งยกระดับความก้าวหน้า จัดการศึกษาปริญญาตรีและโทให้อยู่ในสายเดียวกัน "ข้อบังคับเพิ่มเติมว่าด้วยการแบ่งแยกการศึกษาเป็น 4 คณะ และกำหนดสมัยการศึกษาและการสอบไล่ พ.ศ. 2492เป็นเรื่องที่เร่งรีบทำ ไม่ว่าจะมีความสมเหตุสมผลทางการจัดการศึกษาหรือไม่เพียงใดก็ตาม ในการรับรู้ของนักศึกษา เหตุการณ์ดังกล่าวได้รับการตีความว่าเป็นเรื่องของการเมืองภายนอกเข้ามาแทรกแซง ต้องการควบคุมและแบ่งแยก กลายเป็นส่วนหนึ่งของเจตจำนงที่ต้องการทำลายมหาวิทยาลัย ซึ่งทำให้ spirit ของมหาวิทยาลัยจะต้องเสื่อมสลายไปด้วยหรือไม่ กระนั้นก็ดี ได้นำมาสู่เหตุการณ์สำคัญต่อมาคือ การที่มหาวิทยาลัยถูกยึดเป็นเป้าหมายสำคัญที่จะต้องต่อสู้ในขบวนการนิสิตนักศึกษา

วันที่ 29 มิถุนายน 2494 อันเนื่องมาจากการเหตุการณ์ กบฏแมนฮัตตัน”  มหาวิทยาลัยถูกยึดพื้นที่ภายใต้คำสั่งของคณะทหารและกฎอัยการศึก เนื่องจากเชื่อว่าผู้ก่อการกบฏครั้งนี้มีความสัมพันธ์กับนายปรีดี พนมยงค์ แม้ว่ากฎอัยการศึกจะถูกยกเลิกไปเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2494 แต่มหาวิทยาลัยก็ไม่สามารถเปิดทำการเรียนการสอนได้ เป็นเหตุให้นักศึกษาไม่สามารถเข้ามหาวิทยาลัยได้[6] แม้มหาวิทยาลัยจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง และเป็นปัญหาความขัดแย้งระหว่างกลุ่มอำนาจนิยมกับนายทหารเรือบางกลุ่มก็ตาม แต่ด้วยความหวาดระแวงและยุทธศาสตร์ที่ตั้งอาคารของมหาวิทยาลัย รัฐบาลจึงได้ส่งกำลังทหารบกเข้ายึดครองมหาวิทยาลัยในช่วงระหว่างวันที่ 29 มิถุนายน ถึงปลายเดือน พฤศจิกายน 2494 เจ้าหน้าที่และกิจการงานของมหาวิทยาลัย ถูกสั่งย้ายออกภายใน 24 ชั่วโมง นักศึกษาต้องไปเรียนที่ตึกเนติบัณฑิตสภาหรือบริเวณกระทรวงยุติธรรมปัจจุบันและที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นเวลากว่า 4 เดือน[7]

            ช่วงเวลานั้น ชีวิตของนักศึกษา ไม่มีแต่การเรียนหนังสืออย่างเดียว มีกลุ่มก้อน กิจกรรมทางสังคมร่วมกัน ในหลายๆด้าน นับแต่เปิดภาคการศึกษา ก็เริ่มมีการเตรียมการแข่งขันกีฬาคณะ ซึ่งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ไม่มีประเพณีการรับน้อง ยกเว้นแต่ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีกับคณะรัฐศาสตร์ ที่พยายามจะสร้างประเพณีนี้ขึ้นมาระยะหนึ่ง[8]

วันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ.2494 มีนักศึกษากลุ่มหนึ่งเรียกร้องและบุกเข้ายึดมหาวิทยาลัยคืน โดยมารวมตัวกันที่หน้าเนติบัณฑิตสภา ก่อนที่จะเคลื่อนตัวไปยังรัฐสภาเพื่อกดดันรัฐบาลทหารของจอมพล ป. พิบูลสงคราม แม้ว่าการชุมนุมประท้วงในครั้งนี้จะไม่ประสบผลสำเร็จ แต่นักศึกษาก็คงความพยายามที่จะยึดมหาวิทยาลัยคืน โดยเริ่มจากกิจกรรมทัศนศึกษาของนักศึกษาที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ครั้นกลับจากการทัศนศึกษาในครั้งนี้ นักศึกษาจำนวนมากกว่าพันคนพร้อมใจกันขึ้นรถทัวร์จำนวน 15 คันจากหัวลำโพงเดินทางเข้าสู่มหาวิทยาลัย การยึดคืนมหาวิทยาลัยจากอำนาจเผด็จการทหาร และต่อมาได้กลายมาเป็น วันธรรมศาสตร์สามัคคีเป็นจุดกำเนิดของ คำขวัญที่ว่า “รวมกันเราอยู่ แยกกันเราตาย” ซึ่งมีงานเฉลิมฉลองเป็นประจำทุกปี จนกระทั่งถูกยกเลิกไปในปี พ.ศ. 2503 และได้เปลี่ยนมาเป็นวันที่ 10 ธันวาคมแทน ในปี พ.ศ. 2506 [9]

นับว่าช่วงทศวรรษ 2490 นักศึกษาแข็งขันในการดำเนินกิจกรรม โดยเฉพาะการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ทำให้มีแรงต้านทางจากฝ่ายบริหารของมหาวิทยาลัยที่ควบคุมสโมสรและออกกฎ “ข้อบังคับสโมสรมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ.2501” เป็นการใช้อำนาจควบคุมนักศึกษาหัวก้าวหน้าอย่างเป็นรูปธรรม กระทั่งมีการลบชื่อออกจากทะเบียนในกรณีประท้วงผู้บริหาร ส่งผลให้เกิด “ข้อบังคับสโมสรมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ.2502” โดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่ดำรงตำแหน่งประธานสภามหาวิทยาลัยในขณะนั้น[10] และมีจอมพล ถนอม กิตติขจร เป็นอธิการบดี ซึ่งเป็นผู้ที่มีทัศนคติต่อการแต่งกายอย่างเคร่งครัดตามระเบียบทหาร และได้นำมาใช้กับนักศึกษา ทำให้วิถีความหลากหลายความมหาวิทยาลัยเปิดนี้ ค่อยๆ ถูกกลืนกินในยุคที่เข้าสู่ยุคมหาวิทยาลัยปิด และได้สร้างระเบียบมหาวิทยาลัยใหม่ ด้วยกระบวนการของนักเรียนโรงเรียนทหาร เป็นแนวคิดควบคุมคนหรือนักศึกษาผ่านระบบอุปถัมภ์[11] ทำให้เสรีภาพทางวิชาการระหว่างนักศึกษากับอาจารย์ในการแสดงทัศนคติ ถกถียงเพื่อการเรียนรู้นี้ มีช่องว่างเพิ่มมากขึ้น เป็นไปในลักษณะที่นักศึกษาต้องคอยรับอาความรู้จากอาจารย์ในลักษณะที่มีการเปรียบเปรยถึงทารกที่ต้องมีมารดาคอยป้อนอาหารให้ และนำมาสู่การคารวะ เคารพนับถือ การสร้างพิธีกรรม ความเป็นรุ่นพี่รุ่นน้องในมหาวิทยาลัย
เอกลักษณ์ที่เป็นความภาคภูมิใจของธรรมศาสตร์ และประพฤติปฏิบัติกันสืบมาช้านาน ทั้งการให้เสรีภาพกับนักศึกษาในการแสดงความคิดเห็นและแสดงออกทางความคิดเริ่มจางหาย ด้วยกฎเกณฑ์ข้อบังคับดังกล่าวไม่เพียงแต่ส่งผลต่อนักศึกษาภายในมหาวิทยาลัยเท่านั้น หากว่านักศึกษาที่จบไปและเข้าสู่การประกอบวิชาชีพ ได้นำค่านิยมในแบบทหารที่ต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ที่เคร่งครัดมาปฏิบัติ รวมไปถึงการช่วยเหลือกันในหมู่คณะที่กลายเป็นวัฏจักรเกื้อหนุนระบบอุปถัมภืในสังคมให้คงอยู่





ที่มา: มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง. 2543. กรุงเทพฯ: ฝ่ายการนักศึกษา. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
 


“เมื่อธรรมศาสตร์หันขวา”

บรรยากาศของการเมืองภายใน และการเมืองระหว่างประเทศ ซึ่งมีผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่อมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในด้านหนึ่ง ก็ได้สร้างความเป็นอนุรักษ์นิยมขึ้น ในหมู่อาจารย์และนักศึกษา ที่หันมาสนใจเรื่องที่เกี่ยวข้องกับตนเอง โดยเฉพาะขาดความสนใจในสังคมที่กว้างขวางออกไป จิตสำนึกเกี่ยวกับระบอบประชาธิปไตยไทยของคนชั้นกลางหรือที่ขยายการตีความออกไปสู่มวลชนจางหายไป ยิ่งเมื่อเข้าสู่การเป็นมหาวิทยาลัยปิด มิใช่ตลาดวิชาดังที่เคยเป็นมา บุตรธิดาของผู้เข้าศึกษาที่ค่อนข้างมีฐานะในระดับปานกลางหรือระดับที่สูงขึ้นไป ซึ่งได้เปรียบในการแข่งขันสอบเข้ามหาวิทยาลัย จึงจะมีโอกาสผ่านเข้ามาในธรรมศาสตร์ได้ มากกว่าลักษณะฐานที่กว้างขวางกระจายไปสู่คนชั้นล่างดังที่เคยเป็นมาก่อนในทศวรรษ 2500 เริ่มละลายหายไป ขาดช่วงกับอดีตเก่าของธรรมศาสตร์เกิดขึ้น ผู้ประศาสน์การหรือผู้นำขบวนการนักศึกษาของช่วงทศวรรษ 2490 กลายเป็นตำนานที่เลอะเลือน ลักษณะของกิจกรรมนักศึกษาถูกควบคุมอย่างใกล้ชิดโดยอาจารย์ กิจกรรมส่วนใหญ่เน้นไปในด้านบันเทิง ความสนุกสนาน งานเชียร์ การทะเลาะเบาะแว้งและตีกันเอง โดยเฉพาะคณะนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ การแปรขบวน แปรอักษร ในงานฟุตบอลประเพณี จุฬา- ธรรมศาสตร์ หรูหรา ยิ่งใหญ่ ลงทุนสูง และเป็นงานสำคัญที่สุดในชีวิตนักศึกษาสมัยนี้ [12]

เหตุการณ์ที่ได้กล่าวมาเป็นลำดับนับแต่เริ่มก่อตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองจนถึงช่วงหลังจากที่ถูกเปลี่ยนชื่อเป็นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สะท้อนผ่านเรื่องราว ความคิดเห็นที่ถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ธรรมศาสตร์ ที่สะท้อนแนวคิดซึ่งความเจริญของสังคม การมีสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค ที่เป็นส่วนสำคัญต่อการสร้างสังคมประชาธิปไตย

มองย้อนกลับมายังปัจจุบัน ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมโลกได้เปลี่ยนวิถีชีวิต รวมทั้งวิธีคิดบางอย่าง แนวคิดสากลทำให้เรายกย่องความเป็นมนุษย์และเห็นคุณค่าของมัน เรามีเสรีภาพความเท่าเทียมเสมอกัน แต่การมีเสรีภาพในการแต่งกายมาเรียน ไม่ได้แปลว่าเราเข้าใจคุณค่าความเป็นมนุษย์ ตราบใดที่เราบอกว่าประชาธิปไตยคือระบอบที่ให้ทุกคนมีสิทธิ มีเสียงที่จะแสดงออกซึ่งความคิดเห็น ทว่า การสร้างระบบอุปถัมภ์ผ่านการรับน้องยังมีอยู่ ด้วยพิธีการที่บั่นทอนสิทธิ เสรีภาพ และคุณค่าความเป็นมนุษย์ของบุคคลอื่น

ในแต่ละปีของช่วงรับนักศึกษาใหม่ จะมีเหตุการณ์ที่ชี้ถึงพฤติการณ์ดังกล่าววนเวียนกลับมาบรรจบซ้ำแล้วซ้ำเล่า มธ.ตะวันออกหรือคณะด้านสายวิทยาศาสตร์ จะถูกจับตามองเป็นพิเศษ ไม่ว่าด้วย สัญลักษณ์ ป้ายชื่อหรือการกระทำใดก็ตามที่แสดงออกมาให้สังคมธรรมศาสตร์ได้เห็นอย่างเด่นชัด แต่กลับลืมที่จะหันไปสำรวจ มธ.ตะวันตกที่มีไม่น้อยยังคงมีพฤติการณ์เหล่านี้อยู่(อาจเป็นเพราะไม่ได้เป็นที่ประจักษ์ชัดนัก แต่หากได้ถามว่ามีหรือไม่ต่างก็มีคำตอบที่ไม่ต่างกันนัก เพียงแต่ถูกซุกซ่อนไว้ในเงา) และสายธารการสนับสนุนที่ไม่ขาดสายจาก รุ่นพี่ที่เรียนจบไปและยังคงอยู่ ด้วยมีอิทธิพลไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนงบประมาณหรือการสนับสนุนทางด้านการอำนวยความสะดวกหรือการใดก็ตาม เป็นแรงบีบบังคับที่ทำให้ผู้ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงไม่สามารถกระทำได้ กลายเป็นสภาวะที่บีบบังคับให้เกื้อหนุนต่อระบบอุปถัมภ์

ในวาระครบรอบ 83 ปีของธรรมศาสตร์ และ 85 ปีของประชาธิปไตย นานพอแล้วหรือยังที่เราควรหันกลับมาสำรวจตนเอง ว่าธรรมศาสตร์ยังคงเป็นมหาวิทยาลัยที่มีเสรีภาพทุกตารางนิ้วได้อยู่หรือไม่




สามัคคี ประเพณี เป็นพี่น้อง

หลังจากที่มรสุมทางการเมือง เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2490 คณะรัฐประหารได้ยึดอำนาจการปกครองประเทศ กระทั่งช่วงปี พ.ศ.2491 ถึง 2492 ด้วยเหตุผลทางการเมืองทำให้มหาลัยได้รับผลกระทบ ตลอดจนสภาพแวดล้อมระหว่างประเทศที่เปลี่ยนแปลงไป เกิดผลกระทบโดยตรง การจัดการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัย ซึ่งเพียงแต่หลักสูตรธรรมศาสตรบัณฑิตนั้น ไม่เพียงพอที่จะผลิตบัณฑิตได้ตรงกับหน้าที่การงาน จากข้างต้นได้มีการผลักดันให้ลงมติตรา “ข้อบังคับเพิ่มเติมว่าด้วยการแบ่งแยกการศึกษาเป็น 4 คณะ และกำหนดสมัยการศึกษาและการสอบไล่ พ. ศ. 2492” ขึ้น จากเดิมชื่อ มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ได้ถูกเปลี่ยนเป็น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตำแหน่งผู้ประสาทการถูกยกเลิก เปลี่ยนเป็นอธิการบดี หลักสูตรธรรมศาสตร์บัณฑิต ถูกเปลี่ยนแปลงเป็นนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ความเป็นตลาดวิชาหมดไปตาม “พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ. ศ. 2495

คณะรัฐศาสตร์กำเนิดขึ้นในวันที่ 14 มิถุนายนพ. ศ.2492  ซึ่งในช่วงต้นทศวรรษที่ 2520 คณะรัฐศาสตร์ ได้เปิดการเรียนการสอนทั้งในระดับปริญญาตรี และปริญญาโท รวม 4 แผนก ได้แก่ การปกครอง บริหารรัฐกิจ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรือแผนกการฑูตเดิม และปรัชญาการเมือง ก่อนที่จะยุบรวมลงเหลือเพียง 3 แผนก ได้แก่การเมืองการปกครอง บริหารรัฐกิจ และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ [13]

คำว่า “สิงห์แดง” สนธิ บางยี่ขัน สิงห์รุ่น 12 ได้พูดถึงความหมายของ “สิงห์” ว่า เป็นสัตว์ในนิยายโบราณที่กล่าวกันว่า มีอยู่ในป่าหิมพานต์ คือ ราชสีห์ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นจ้าวป่า และมีอำนาจปกครองเหนือสรรพสัตว์อื่น แต่ “สิงห์แดง” คือ ชาวรัฐศาสตร์ มธก. ที่รวมทั้งนักศึกษา ครูบาอาจารย์ ข้าราชการ บุคลากรทุกคนในคณะ ซึ่งมีประเพณีที่ยึดเอาจ้าวแม่สิงห์โตทองเป็นที่ยึดเหนี่ยว

สิ่งสำคัญ ที่ไม่ปกติและจะบ่งบอกการเปลี่ยนแปลง ในมหาวิทยาลัยหลายประการ ได้แก่ เหตุการณ์ที่เรียกว่า กรณี 21 สิงหาคม พ.ศ.2497 เนื่องจากว่า ในตอนเย็นของวันที่ 20 นั้น การแข่งขันรักบี้ ระหว่างโรงเรียนนายร้อย จปร. กับ ธรรมศาสตร์ ที่สนามกีฬาแห่งชาติ ซึ่งเป็นประเพณีที่ได้ปฏิบัติกันมาหลายปี ในระหว่างการแข่งขันได้เกิดการกระทบกระทั่งกันขึ้น นักเรียนนายร้อยกลุ่มหนึ่ง ประมาณ 20 คน ได้ทำร้าย นายบุญส่ง อนันทิโก นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ จนได้รับบาดเจ็บสาหัส ตำรวจได้เข้าระงับเหตุ อันที่จริง นักศึกษาธรรมศาสตร์ ที่ไปดูการแข่งขันคราวนั้น มีไม่มากนัก ราว 200 คนเศษ แต่เรื่องกระจายออกไปเพราะ นายระบิล ศิริ นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ ซึ่งเป็นช่างภาพสมัครเล่นที่ช่วยทำงานให้หนังสือพิมพ์ภาพข่าวฉบับหนึ่ง ได้บันทึกภาพเหตุการณ์ดังกล่าวไว้ และได้นำไปติดในบอร์ดหน้าที่ทำการของคณะกรรมการนักศึกษาในเช้าวันรุ่งขึ้น พร้อมกับมีโปสเตอร์ของคณะกรรมการนักศึกษา เรียกร้องไห้นักศึกษามาร่วมชุมนุม เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม คำที่ว่า “รวมกันเราอยู่ แยกกันเราตาย” กลับมามีความหมายอีกครั้งหนึ่ง

การระดมนักศึกษาอย่างเร่งด่วน ในตอนเช้าวันที่ 21 สิงหาคม 2497 ได้มีนักศึกษาจำนวนหนึ่ง ราว3,000 คนเศษ เริ่มเดินขบวนตั้งแต่ เวลา 9.00 น ไปตามถนนราชดำเนิน มุ่งหน้าไปพบพลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจ และรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่วังปารุสกวัน นายบุญส่ง นันทิโก ถูกหามใส่เปล นำหน้าขบวนนักศึกษา ซึ่งชูป้าย "เราประณามการกระทำเยี่ยงมนุษย์สมัยหิน" และ " เราประท้วงการกระทำของอธรรม" และอื่น ๆ  ครั้งเมื่อเข้าไปถึงวังปารุสกวัน ก็เขาพบ พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ โดยง่ายดาย นายวินัย เพิ่มพูนทรัพย์ ประธานนักศึกษายื่นข้อเรียกร้อง 3 ข้อ แก่ พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ [14] ดังนี้

1 . ให้เอาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ
2 . ขอให้อธิบดีกรมตำรวจให้คำรับรองว่า จะไม่เกิดเหตุการณ์ในทำนองนี้อีก
3 . ขอสถานที่เรียนทางรักษาดินแดนมีอีกส่วนหนึ่งคืนทั้งหมด 

การรวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อน สร้างความสามัคคีเป็นพี่น้องในหมู่คณะ จะสามารถทำให้เป้าหมายที่ประสงค์บรรลุล่วงไปได้ ทว่า เป้าหมายที่บรรลุไม่ใช่เพียงแต่การทวงถามความยุติธรรมแต่เพียงเท่านั้น อาจรวมถึงการกระทำอื่น โดยเฉพาะการปลูกฝังค่านิยมบางอย่าง ที่ชาว “สิงห์แดง” สามารถสร้างความเป็น seniority ได้สำเร็จ กลไกในระบบอุปถัมภ์ของสังคมไทยจึงยังคงขับเคลื่อนอยู่ตลอด ดังที่เห็นได้ว่า ในอดีตช่วงทศวรรษแรก ๆ  ของคณะรัฐศาสตร์ กลุ่มกิจกรรมที่มีชื่อเสียง และนักศึกษาในคณะให้ความสนใจเป็นอันมาก คือ “กลุ่มเชียร์” ที่เป็นการประกวดกองเชียร์ในการแข่งขันกรีฑาประจำปีจนถือเป็นกิจกรรมหลักของคณะก็ว่าได้ จนได้รับรางวัลชนะเลิศติดต่อกันหลายปี(พ.ศ.2499-2504) จนกลายเป็นการปลูกฝังให้กับรุ่นต่อ ๆ  มาว่า “ใครอยู่รัฐศาสตร์แล้ว ต้องเอาถ้วยเชียร์กลับมาให้ได้”[15] สร้างความรักใคร่ผูกพันกลมเกลียว และกลายเป็นตำนานเล่าสืบต่อกันมา ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นผลโดยตรงจาก การวางรากฐานการฝึกฝนนักศึกษาในคณะ จากความเป็นตลาดวิชา มาสู่ความเป็นนักศึกษาที่ต้องอยู่กินนอน ซึ่งขณะนั้นคณะรัฐศาสตร์เป็นหนึ่งเดียวที่ใช้ระบบนี้ โดยพักอาศัยที่ทางด้านบริเวณริมน้ำด้านท่าพระอาทิตย์ เพื่อจะได้ฝึกฝนระเบียบวินัยและกีฬาโดยเฉพาะ โดยมีการใส่เครื่องแบบและมีครูฝึกที่เป็นนายตำรวจ มีทั้งการเดินแถวไปเข้าห้องเรียน[16] สิ่งเหล่านี้กลายเป็นความภาคภูมิใจของชาวสิงห์แดงตลอดมา ดังที่ สุขุม นวลสกุล กล่าวว่า[17]

“...และเราก็ปลูกฝังให้เห็นว่าคณะเรามีระเบียบวินัย เรารักกัน คณะเราเป็นที่หนึ่ง เพราะว่าสามัคคี บางทีนั่งๆ อยู่ รุ่นน้องไปมีเรื่องกับคณะอื่นแถวท่าพระจันทร์ พวกพี่ก็ไม่ฟังอะไรแล้วก็ยกพวกไปตามล่า เป็นคณะที่คนอื่นเขาไม่ค่อยชอบ บางทีก็ผิดหลักปกครอง เพราะหลักปกครองต้องทำให้เป็นที่รัก แต่ในสมัยนั้นเรามองคนละแบบกัน จะปกครองเขาต้องเหนือกว่าเขา” 




ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวของชาวสิงห์แดงกลับดูเหมือนว่าเป็นความรักที่สร้างขึ้นมาในหมู่ของผู้ที่ยอมรับและความเป็นพวกพ้องเดียวกันเท่านั้น นั่นหมายความว่า เป็นการสร้างความเป็นพวกพ้องอุปถัมภ์ หากผู้ที่ไม่ยอมรับ หรือไม่ใช่ “พวกเดียวกัน” ก็จะกลายเป็นอีกฝ่าย  ฉะนั้นแม้แต่ในรุ่นเดียวกันยังต้องมีการประพฤติตัวให้เป็นที่ยอมรับ ดังที่ นรนิติ เศรษฐบุตร ได้ให้สัมภาษณ์ว่า[18] “... เพราะเราเป็นรุ่นพี่ ตัวเราก็ไม่รู้ทำอย่างไรให้รุ่นทั้งรุ่นยอมรับ รัฐศาสตร์มีซีเนียริตี้ด้วย เขารับน้องใหม่ สมัยผมก็ไม่รู้สึกอะไร ก็โอเคนะ แต่ว่าที่นี่คณะอื่นเขาไม่รับเลยนะ เขาก็บอกว่าคณะเราค่อนข้างที่จะล้าหลัง” ความเป็นพวกพ้องนี้แม้ว่าจะเกิดความภาคภูมิใจ แต่ปฏิเสธได้อย่างไรว่าคณะรัฐศาสตร์ที่ผลิตบัณฑิตเข้าสู่วงการราชการ เป็นผู้ปกครอง เพื่อ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” และจบออกไปเพื่อรับใช้ประชาชนอย่างที่ธรรมศาสตร์สอนให้รักประชาชนนั้น ฤาจะเป็นเพียงรับใช้พวกพ้องชาวสิงห์ด้วยกัน? 




กรณีหนึ่งที่ค่อนข้างเห็นได้ชัดในการพยายามสร้างความเป็น Seniority คือ “สิงห์แดงสัมพันธ์” ที่เปรียบเสมือนการ “รับเพื่อนใหม่” ของคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทว่า จากการรับรู้ และจากการให้สัมภาษณ์ของผู้ที่เคยเข้าร่วมมานั้น กิจกรรมนี้นอกเหนือจากกิจกรรมสร้างความเป็นหมู่คณะพวกพ้องต่อรุ่นพี่รุ่นน้องแล้ว ก็มิได้ต่างจากการรับน้องรุนแรงโดยมีรูปแบบของ SOTUS ที่ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการนั่งหรือแม้กระทั่งนอนบนพื้นท่ามกลางแสงแดดที่แรงจ้า ตลอดไปจนถึงการ “ว๊าก” (ที่นักศึกษาในคณะออกมาแก้ต่างว่าเป็น “ว๊ากที่ดี”) ยังไม่นับรวมถึงการรับน้องในระบบโต๊ะที่ยังคงใช้รูปแบบที่คล้ายคลึงกันอยู่ อนึ่ง รูปแบบเหล่านี้ไม่ใช่แค่การยอมรับของนักศึกษารุ่นพี่ในคณะหรือโต๊ะเท่านั้น แต่รวมถึงเหล่าบัณฑิตที่หลายคนจบไปได้ดำรงตำแหน่งหน้าที่ปกครอง บริหารประเทศ และมีส่วนเกี่ยวข้องในการผลิตซ้ำวาทกรรมเหล่านี้ ทำไมถึงไม่เคยมีใครตั้งคำถามกับสิ่งเหล่านี้ ทำไมต้องจ่ายค่า “โต๊ะ” ที่เดือนหนึ่ง ๆ  เก็บไม่น้อยกว่า 500 บาทต่อคน ความจำเป็นของกิจกรรมเหล่านี้ควรมีจริงหรือ? หรือบ่อน้ำบำบัดความกระหายจะมีไว้เพียงให้คนเพียงกลุ่มหนึ่งที่มีความสามารถเข้าถึงตักตวงแต่เพียงกลุ่มเดียว ดังที่ว่า “...ศิษย์เก่าและศิษย์ในปัจจุบันจะมีความเอื้ออาทรสูงมาก ...เป็นการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน แต่ในขณะเดียวกันไม่ควรเน้นพรรคพวก เพราะจะทำให้เกิดความขัดแย้งไม่สิ้นสุด”[19]



ท้ายที่สุด ทิศทางของ "สิงห์แดง" รุ่นต่อไปจะเป็นอย่างไรย่อมขึ้นอยู่ที่ตัวนักศึกษาจะขับเคลื่อนให้เป็นไปแบบไหน ลองกลับมาตั้งคำถามดูว่า การก้าวเข้ามาอยู่ในคณะรัฐศาสตร์ ความมุ่งหมายสำคัญประการใดที่เราต้องพุ่งเข้าหา ความหวังที่จะเห็นอนาคตของประเทศ มีผู้นำทางสังคม มีข้าราชการที่ช่วยเหลือ "บำบัดทุกข์ บำรุงสุข" ให้กับประชาชน ย่อมเป็นไปได้ไม่ยาก เพียงกล้าที่จะตั้งคำถาม ทำความเข้าใจปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น และเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งใหม่ที่ดีกว่า ย่อมเป็นประโยชน์ยิ่งต่อการพัฒนาชาติให้เจริญเข้มแข็งได้




[1] คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาขาฟิสิกส์อิเล็กทรอนิกส์ ชั้นปีที่ 3 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
[2] ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์, 2517, น.65
[3] ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์, 2517, น.66
[4] สนิท ผิวนวล. 2543. มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง. กรุงเทพฯ: ฝ่ายการนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,น.24-27
[5] ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. 2526. ปรีดี ปริทัศน์ ปาฐกถาชุดปรีดี พนมยงค์อนุสรณ์. กรุงเทพฯ: เทียนวรรณ,น.5
[6] พีรพล แสงสว่าง
[7] ชาญวิทย์ เกษตรศิริและคณะ. 2535. สำนักนั้นธรรมศาสตร์และการเมือง, น.150 - 151
[8] เรื่องเดียวกัน, น.191
[9] เรื่องเดียวกัน, น.198
[10] วารุณี โอสถารมณ์ (บก.), มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. 2556. ผู้ประศาสน์การและอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (พ.ศ.2477-2556): ประวัติชีวิต ความคิด และการทำงาน. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, น.108
[11] เรื่องเดียวกัน , น.143-146
[12] สมัยสายลมแสงแดด และยูงทอง 2500 – 2511, ม.ป.ป., น.258-259
[13] มูลนิธิปริญญาโทนักบริหารรัฐกิจธรรมศาสตร์ และศิษย์เก่าปริญญาโทคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. 2552. 2492-2552 จิตวิญญาณสิงห์แดงบนทางสองแพร่งประชาธิปไตย, น.4-5
[14]  อ้างแล้วในหมายเหตุ 7, น.207 - 208
[15] สุขุม นวลสกุล อ้างใน ฉัตรวัฒน์ หวังศิริกำโชค,สมาคมรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในพระบรมราชูปถัมป์. 2556 .รัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ เกียรติตระการ. กรุงเทพฯ: อัมรินทร์พริ้นติ้งแอนพับลิชชิ่ง, น.37
[16] สมาคมรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในพระบรมราชูปถัมป์. 2556 .รัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ เกียรติตระการ. กรุงเทพฯ: อัมรินทร์พริ้นติ้งแอนพับลิชชิ่ง, น.130
[17] สัมภาษณ์โดย สมเกียรติ สมคำและสรัญญู วุฒินิธิกร, อ้างแล้วในหมายเหตุ 16, น.229
[18] สัมภาษณ์โดย สมเกียรติ สมคำ, อ้างแล้วในหมายเหตุ 16, น.173
[19] โคริน เฟื่องเกษม สัมภาษณ์โดย ฉัตรวัฒน์ หวังศิริกำโชค, อ้างแล้วในหมายเหตุ 16, น.199







ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

บทวิจารณ์วรรณกรรม เรื่อง Nineteen Eighty-Four (1984) by George Orwell

บทวิจารณ์วรรณกรรม เรื่อง Nineteen Eighty-Four (1984) by George Orwell * รัฐพงศ์    หมะอุ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์             วรรณกรรมการเมืองคลาสสิกของโลก เรื่อง 198 4 ซึ่งประพันธ์โดย จอร์จ ออร์เวลล์ (George Orwell) ที่สะท้อนภาพสังคมอันถูกจำกัดไว้ซึ่งสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานอย่างสิ้นเชิง ผ่านสำนวนการเสียดสีและแฝงไปด้วยความขัดแย้ง ซึ่งถูกถ่ายทอดออกมาในสำนวนการเขียนของ สรวงอัปสร กสิกรานันท์ [1]   เป็นที่น่าสนใจว่า 1984 พยายามตั้งคำถามโดยการมองมุมกลับกับสังคมที่ดูราวกับว่า “ปกติ” ทั้งที่เป็น “ความปกติที่ไม่ปกติ” สังคมแบบย้อนแย้งระหว่างกรอบแนวคิดและวิธีปฏิบัติที่เรียกว่า คิดสองชั้น (Double think) จนกลายเป็นความสำพันธ์ที่ซับซ้อนในเชิงอำนาจ 1984 กับภาพสะท้อนโลก อาเซียน และไทย             หนังสือ 1984 ถูกตีพิมพ์ในช่วงสงครามเย็น (cold war) และแสดงให้เห็นถึงความน่ากลัวของสังคมแบบเผด็จการเบ็ดเสร็จ (Totalitarianism) ซึ่งชี้ให้เห็นว่าเทคโนโลยีมีส่วนสำคัญในการทำให้เกิดสังคมนิยมเบ็ดเสร็จหรือในทางกลับกันนั้น อำนาจเบ็ดเสร็จจำเป็นต

พื้นที่ประชาธิปไตย ทำยังไงให้ได้มา

พื้นที่ประชาธิปไตย ทำยังไงให้ได้มา Democratic Space and How to Find It รัฐพงศ์ หมะอุ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์   * หมายเหตุ:บทความนี้ได้รับรางวัลชนะเลิศในการประกวดบทความในหัวข้อ“พื้นทีประชาธิปไตย ( Democratic Space)" ระดับมหาวิทยาลัย โดย คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ความนำ เสียงโห่ร้องของมวลชนนับแสนที่ก่อการลุกฮือขึ้นใจกลางเมืองหลวงของประเทศดังกังวานก้องไปทั่วลานอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ชัยชนะของเหล่านิสิตนักศึกษาที่รวมพลเรียกร้องประชาธิปไตยอันเป็นของประชาชนกลับคืนสู่ประเทศไทยได้อย่างงดงาม  กลายเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ที่ถูกจารึกไว้ในตำราหนังสือให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา แต่น่าเศร้า ฉากแห่งชัยชนะของศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาผ่านไปเพียงไม่นาน กลับกลายเป็นฉากโศกนาฏกรรมความรุนแรง ที่นำมาซึ่งความเจ็บปวด และความอิหลักอิเหลื่อต่อปมปัญหา เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 บรรยากาศของประชาธิปไตยเลือนหายไป สนามฟุตบอล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และท้องสนามหลวงประดุจลานประหารนักโทษทางคว